วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ความเป็นมาวันฮาโลวีน


ความเป็นมาวันฮาโลวีน
วันฮาโลวีน เรามักจะคุ้นเคยเรียกกันเป็นภาษาปากว่า วันปล่อยผี ในวันดังกล่าวมักมีการจัดตกแต่งบ้านเรือน ร้านค้า โดยใช้ฟักทองที่คว้านเป็นรูปผี หรือใช้วัสดุอื่น ๆ ประดิษฐ์เป็นตัวผีหรือทำให้มีหน้าตาเป็นผีเพื่อสร้างบรรยากาศให้กลายเป็นงานรื่นเริง วันฮาโลวันมีที่มาอย่างไร และเหตุใดจึงเรียกเช่นนั้นในเรื่องนี้ คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล แห่งราชบัณฑิตยสถาน ได้จัดทำคำอธิบายถึงประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจของ “ฮาโลวีน” ไว้ดังนี้


ในคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิก Halloween เป็นคำภาษาอังกฤษ เพี้ยนมาจากคำ All Hallows Evs ซึ่งแปลว่า วันก่อนวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย โดยวิธีตัดต่อ Hallow + Eve = Halloween คำ Hallow เป็นคำแองโกลแซกซัน แปลว่า ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ตรงกับภาษาเยอรมันว่า heiligen ในปัจจุบันนิยมใช้คำมาจากภาษาละตินว่า sanctify คำ Hallow ยังมีใช้ในบทสวดอธิษฐานเก่า ๆ เช่น Hallowed be thy Name (ขอพระนามจงเป็นที่สักการะ)

คำ Hallow ยังแปลว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ศักดิ์สิทธิ์ นักบุญ คำ All Hallowmas จึงแปลว่า วันสมโภชนักบุญทั้งหลาย ในปัจจุบันใช้คำว่า All Saints Day คู่กับ Christmas ซึ่งแปลว่า วันสมโภชพระคริสต์หรือคริสต์มาสนั่นเอง วันก่อนวันสมโภชคริสต์มาสมี Chrismas Eve ที่นิยมเรียกว่า คืน (ก่อน) คริสต์มาส วันก่อนวันสมโภชนักบุญทั้งหลายก็มี All Hallowmas Eve ซึ่งต่อมาย่อเป็น Halloween โดยมีงานรื่นเริงและพิธีกรรมทางศาสนาเช่นเดียวกับคืนคริสต์มาส ชาวคาทอลิกพร้อมใจกันเลื่อนพิธีกรรมทางศาสนาไปหลังวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย และเรียกว่า วันวิญญาณในแดนชำระ (All Souls Day) เพื่อให้คู่กับวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย (All Saints Day)

การสมโภชนักบุญทั้งหลายเริ่มโดยสันตะปาปาโบนีเฟสที่ 4 (Boniface IV ครองอำนาจ ค.ศ. ๖๐๘–๖๑๕) โดยกำหนดวันที่ ๑๓ พฤษภาคมของทุกปี ตั้งแต่ ค.ศ. ๖๑๓ เป็นต้นมา สาเหตุเนื่องจากเป็นวันเปิดโบสถ์แพนทีอัน (Pantheon) อันเป็นโบสถ์สรรพเทพของชาวโรมันมาแต่เดิม และจักรพรรดิโฟกัส (Phocas) ยกให้เป็นของคริสต์ศาสนา ต่อมา สันตะปาปากรีโกรีที่ ๔ (Gregory IV ครองอำนาจ ค.ศ. ๘๒๗–๘๔๔) เปลี่ยนเป็นวันที่ ๑ พฤศจิกายน ตั้งแต่ ค.ศ. ๘๓๕ เป็นต้นมา

ชาวคาทอลิกขณะนั้นถือว่าวันฮาโลวีนมีความสำคัญคู่เคียงกันกับวันคริสต์มาสและวันอีสเตอร์จึงเริ่มงานตั้งแต่วันก่อนหรือวันสุกดิบ ขณะนั้นเกาะอังกฤษยังรับอำนาจของสันตะปาปาอยู่ ชาวอังกฤษจึงรับนโยบายของสันตะปาปาไปปฏิบัติตาม



ด้วยเหตุที่ชาวเผ่าเคลต์ของเกาะอังกฤษ (ไอร์แลนด์และสกอตแลนด์) ถือเอาวันที่ ๑ พฤศจิกายน เป็นวันต้นฤดูหนาวและเป็นวันขึ้นปีใหม่ (Samhoin) มาเป็นเวลานานแล้ว โดยจัดพิธีเป็น ๒ วัน คือวันสุกดิบ (๓๑ ตุลาคม) เป็นวันทำบุญเลี้ยงผี ซึ่งเชื่อกันว่าทั้งคืนจะมีผีออกเพ่นพ่านรับส่วนบุญ เมื่อจัดทำพิธียกอาหารทำบุญแล้วก็ปิดประตูหน้าต่างอยู่แต่ในบ้านอธิษฐานขอให้ผีไปที่ชอบ ๆ วันรุ่งขึ้น (๑ พฤศจิกายน) เป็นวันปีใหม่ ได้ทำพิธีบูชาเทพเจ้าตามด้วยการรื่นเริงตามประเพณี เมื่อชนพวกนี้ยอมรับนับถือศาสนาคริสต์แล้วก็ยังคงปฏิบัติประเพณีนี้ต่อมา ครั้นได้รับนโยบายจากสันตะปาปาแล้ว ผู้นำศาสนาก็หาวิธีแทรกพิธีกรรมของศาสนาคริสต์เข้ากับประเพณีเดิม วันสุกดิบจึงกลายเป็นวันทำบุญให้วิญญาณของผู้ล่วงลับที่อาจจะยังไม่ได้ขึ้นสวรรค์ คือวิญญาณที่ยังใช้โทษใช้บาปกรรมของตนยังไม่หมดสิ้น ยังอยู่ในแดนชำระ (purgatory) จึงทำพิธีสวดอ้อนวอนขอพระเป็นเจ้าเมตตาให้ได้ขึ้นสวรรค์เร็วขึ้น

วิญญาณเหล่านี้จึงไม่น่ากลัวเหมือนผีที่เร่ร่อนขอส่วนบุญ เมื่อชาวบ้านหันมานับถือศาสนาคริสต์แล้วก็ไม่เชื่อเรื่องผีมาขอส่วนบุญอีก แต่ก็ยังถ่ายทอดประเพณีนี้ต่อไป โดยปรับให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ คือคืนวันสุกดิบถือเป็นคืนเล่นผี มีผู้แต่งตัวสมมุติเป็นผีออกเพ่นพ่านขอส่วนบุญ ใครที่ไม่ชอบแต่งตัวเป็นผีก็ยินดีจัดเลี้ยงต้อนรับผีในครอบครัวของตน โดยคว้านฟักทองหรือใช้วัสดุอื่นทำให้มีหน้าตาเป็นผี สร้างบรรยากาศให้มีผีในบ้านต้อนรับผีนอกบ้าน กลายเป็นงานสนุกสนานรื่นเริงที่มีบรรยากาศแปลก วันรุ่งขึ้นจึงเป็นวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย และต่ออีกวันหนึ่งจึงเป็นวันทำบุญให้วิญญาณในแดนชำระ

เมื่อชาวไอริชและชาวสกอตอพยพไปตั้งหลักแหล่งในสหรัฐอเมริกาก็นำเอาประเพณีนี้ไปปฏิบัติ ปรากฏว่าถูกใจชาวอเมริกันทุกเชื้อชาติ จึงปฏิบัติตามกันอย่างจริงจังตลอดมา และตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมาก็กลายเป็นเทศกาลประจำชาติมาจนทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ความเป็นมาวันฮาโลวีน


ความเป็นมาวันฮาโลวีน
วันฮาโลวีน เรามักจะคุ้นเคยเรียกกันเป็นภาษาปากว่า วันปล่อยผี ในวันดังกล่าวมักมีการจัดตกแต่งบ้านเรือน ร้านค้า โดยใช้ฟักทองที่คว้านเป็นรูปผี หรือใช้วัสดุอื่น ๆ ประดิษฐ์เป็นตัวผีหรือทำให้มีหน้าตาเป็นผีเพื่อสร้างบรรยากาศให้กลายเป็นงานรื่นเริง วันฮาโลวันมีที่มาอย่างไร และเหตุใดจึงเรียกเช่นนั้นในเรื่องนี้ คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล แห่งราชบัณฑิตยสถาน ได้จัดทำคำอธิบายถึงประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจของ “ฮาโลวีน” ไว้ดังนี้


ในคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิก Halloween เป็นคำภาษาอังกฤษ เพี้ยนมาจากคำ All Hallows Evs ซึ่งแปลว่า วันก่อนวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย โดยวิธีตัดต่อ Hallow + Eve = Halloween คำ Hallow เป็นคำแองโกลแซกซัน แปลว่า ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ตรงกับภาษาเยอรมันว่า heiligen ในปัจจุบันนิยมใช้คำมาจากภาษาละตินว่า sanctify คำ Hallow ยังมีใช้ในบทสวดอธิษฐานเก่า ๆ เช่น Hallowed be thy Name (ขอพระนามจงเป็นที่สักการะ)

คำ Hallow ยังแปลว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ศักดิ์สิทธิ์ นักบุญ คำ All Hallowmas จึงแปลว่า วันสมโภชนักบุญทั้งหลาย ในปัจจุบันใช้คำว่า All Saints Day คู่กับ Christmas ซึ่งแปลว่า วันสมโภชพระคริสต์หรือคริสต์มาสนั่นเอง วันก่อนวันสมโภชคริสต์มาสมี Chrismas Eve ที่นิยมเรียกว่า คืน (ก่อน) คริสต์มาส วันก่อนวันสมโภชนักบุญทั้งหลายก็มี All Hallowmas Eve ซึ่งต่อมาย่อเป็น Halloween โดยมีงานรื่นเริงและพิธีกรรมทางศาสนาเช่นเดียวกับคืนคริสต์มาส ชาวคาทอลิกพร้อมใจกันเลื่อนพิธีกรรมทางศาสนาไปหลังวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย และเรียกว่า วันวิญญาณในแดนชำระ (All Souls Day) เพื่อให้คู่กับวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย (All Saints Day)

การสมโภชนักบุญทั้งหลายเริ่มโดยสันตะปาปาโบนีเฟสที่ 4 (Boniface IV ครองอำนาจ ค.ศ. ๖๐๘–๖๑๕) โดยกำหนดวันที่ ๑๓ พฤษภาคมของทุกปี ตั้งแต่ ค.ศ. ๖๑๓ เป็นต้นมา สาเหตุเนื่องจากเป็นวันเปิดโบสถ์แพนทีอัน (Pantheon) อันเป็นโบสถ์สรรพเทพของชาวโรมันมาแต่เดิม และจักรพรรดิโฟกัส (Phocas) ยกให้เป็นของคริสต์ศาสนา ต่อมา สันตะปาปากรีโกรีที่ ๔ (Gregory IV ครองอำนาจ ค.ศ. ๘๒๗–๘๔๔) เปลี่ยนเป็นวันที่ ๑ พฤศจิกายน ตั้งแต่ ค.ศ. ๘๓๕ เป็นต้นมา

ชาวคาทอลิกขณะนั้นถือว่าวันฮาโลวีนมีความสำคัญคู่เคียงกันกับวันคริสต์มาสและวันอีสเตอร์จึงเริ่มงานตั้งแต่วันก่อนหรือวันสุกดิบ ขณะนั้นเกาะอังกฤษยังรับอำนาจของสันตะปาปาอยู่ ชาวอังกฤษจึงรับนโยบายของสันตะปาปาไปปฏิบัติตาม



ด้วยเหตุที่ชาวเผ่าเคลต์ของเกาะอังกฤษ (ไอร์แลนด์และสกอตแลนด์) ถือเอาวันที่ ๑ พฤศจิกายน เป็นวันต้นฤดูหนาวและเป็นวันขึ้นปีใหม่ (Samhoin) มาเป็นเวลานานแล้ว โดยจัดพิธีเป็น ๒ วัน คือวันสุกดิบ (๓๑ ตุลาคม) เป็นวันทำบุญเลี้ยงผี ซึ่งเชื่อกันว่าทั้งคืนจะมีผีออกเพ่นพ่านรับส่วนบุญ เมื่อจัดทำพิธียกอาหารทำบุญแล้วก็ปิดประตูหน้าต่างอยู่แต่ในบ้านอธิษฐานขอให้ผีไปที่ชอบ ๆ วันรุ่งขึ้น (๑ พฤศจิกายน) เป็นวันปีใหม่ ได้ทำพิธีบูชาเทพเจ้าตามด้วยการรื่นเริงตามประเพณี เมื่อชนพวกนี้ยอมรับนับถือศาสนาคริสต์แล้วก็ยังคงปฏิบัติประเพณีนี้ต่อมา ครั้นได้รับนโยบายจากสันตะปาปาแล้ว ผู้นำศาสนาก็หาวิธีแทรกพิธีกรรมของศาสนาคริสต์เข้ากับประเพณีเดิม วันสุกดิบจึงกลายเป็นวันทำบุญให้วิญญาณของผู้ล่วงลับที่อาจจะยังไม่ได้ขึ้นสวรรค์ คือวิญญาณที่ยังใช้โทษใช้บาปกรรมของตนยังไม่หมดสิ้น ยังอยู่ในแดนชำระ (purgatory) จึงทำพิธีสวดอ้อนวอนขอพระเป็นเจ้าเมตตาให้ได้ขึ้นสวรรค์เร็วขึ้น

วิญญาณเหล่านี้จึงไม่น่ากลัวเหมือนผีที่เร่ร่อนขอส่วนบุญ เมื่อชาวบ้านหันมานับถือศาสนาคริสต์แล้วก็ไม่เชื่อเรื่องผีมาขอส่วนบุญอีก แต่ก็ยังถ่ายทอดประเพณีนี้ต่อไป โดยปรับให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ คือคืนวันสุกดิบถือเป็นคืนเล่นผี มีผู้แต่งตัวสมมุติเป็นผีออกเพ่นพ่านขอส่วนบุญ ใครที่ไม่ชอบแต่งตัวเป็นผีก็ยินดีจัดเลี้ยงต้อนรับผีในครอบครัวของตน โดยคว้านฟักทองหรือใช้วัสดุอื่นทำให้มีหน้าตาเป็นผี สร้างบรรยากาศให้มีผีในบ้านต้อนรับผีนอกบ้าน กลายเป็นงานสนุกสนานรื่นเริงที่มีบรรยากาศแปลก วันรุ่งขึ้นจึงเป็นวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย และต่ออีกวันหนึ่งจึงเป็นวันทำบุญให้วิญญาณในแดนชำระ

เมื่อชาวไอริชและชาวสกอตอพยพไปตั้งหลักแหล่งในสหรัฐอเมริกาก็นำเอาประเพณีนี้ไปปฏิบัติ ปรากฏว่าถูกใจชาวอเมริกันทุกเชื้อชาติ จึงปฏิบัติตามกันอย่างจริงจังตลอดมา และตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมาก็กลายเป็นเทศกาลประจำชาติมาจนทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น