สำหรับการเรียงอักษรบนแป้นพิมพ์ในปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการเรียง ที่เรียกว่า QWERTY (คิวเวอร์ตี้) ที่เรียกกันอย่างนี้เพราะเป็นการนำอักษร 6 ตัวแรก (เมื่อนับจากซ้ายมาขวา) ของแป้นพิมพ์ที่เป็นตัวอักษรแถวบนมาต่อกัน และถ้าหากจะถามว่าทำไมถึงต้องเรียงแบบนี้ เราคงต้องย้อนกลับไปในอดีตกันซะหน่อย
การเรียงลำดับอักษรของแป้นพิมพ์ในปัจจุบันนั้น มีที่มาจากข้อจำกัดที่เกิดกับเครื่องพิมพ์ดีดในยุคแรกๆ ที่ยังจัดแป้นพิมพ์แบบเรียงตามลำดับตัวอักษรคือ เมื่อคนที่พิมพ์ดีดได้คล่องและเร็วมาพิมพ์จะทำให้ก้านพิมพ์ดีดขัดกันอยู่ เสมอ ต่อมา คริสโตเฟอร์ ลาแธมโชลส์ วิศวกรเครื่องกลชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ดีดสมัยใหม่รายแรกและได้รับสิทธิบัตรในปี 1868 จึงทำการเรียงลำดับตัวอักษรเสียใหม่ด้วยการแยกตัวอักษรที่มักใช้มาผสมเป็นคำร่วมกันบ่อยๆ ออกไปอยู่กันคนละฝั่งของแป้นพิมพ์ เพื่อทำให้นักพิมพ์ดีดพิมพ์ได้ช้าลงกว่าเดิม จะได้ไม่เกิดปัญหาก้านพิมพ์ขัดกันอีก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกผู้คนยังคงไม่นิยมเครื่องพิมพ์ดีดของเขามากนัก ทำให้โชลส์ตัดสินใจขายสิทธิบัตรดังกล่าวให้กับทางบริษัท เรมิงตันอาร์มคอมพานี ในปี 1973 ซึ่งปรากฏว่าหลังจากที่ทางเรมิงตันผลิตเครื่องพิมพ์ดีดออกมาจำหน่าย ความนิยมในตัวเครื่องพิมพ์ดีดกลับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
ในเวลาต่อมา ปรากฏว่ามีผู้พยายามจัดเรียงตัวอักษรบนแป้นพิมพ์เป็นแบบต่างๆ ซึ่งแบบที่ได้รับความนิยมมากหน่อยก็อย่างเช่น แบบ DVORAK ซึ่งเคยมีการบอกกล่าวกันว่าการเรียงในรูปแบบนี้จะทำให้พิมพ์เร็วขึ้น จนทางห้างร้านบริษัทหลายแห่งเริ่มนิยมกันอยู่พักหนึ่ง แต่ว่าในปี 1956 ทาง General Services Administration ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่หน่วยงานอื่นๆของรัฐ ได้ทำการศึกษาการจัดแป้นพิมพ์ทั้ง 2 แบบ และก็พบว่า การจัดแบบ QWERTY นั้น ทำให้พิมพ์ได้เร็วเท่ากับหรือมากกว่าแบบ DVORAK ทำให้ความนิยมของการจัดแป้นพิมพ์แบบ DVORAK ลดลงไป
ทั้งนี้หลายคนอาจจะคิดว่า ปัจจุบันเราก็ไม่ได้นิยมใช้พิมพ์ดีดแบบเมื่อก่อนแล้ว ดังนั้นปัญหาเรื่องก้านพิมพ์ขัดกันก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาต่อไป แล้วทำไมเราจึงไม่เปลี่ยนกลับไปใช้แป้นพิมพ์แบบเรียงตามตัวอักษรเหมือนก่อน ซึ่งคำตอบสำหรับคำถามนี้หลายคนคงพอเดากันได้ว่าเป็นเพราะ เราคุ้นเคยและเคยชินกับแบบ QWERTY จนไม่อยากจะกลับไปเสียเวลาเริ่มนับหนึ่งกับแบบเดิมเสียแล้ว
ปล. แป้นพิมพ์ภาษาไทย ก็ให้เหตุผลเดียวกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น